ปลูกมะละกอจากกิ่งตอน ลดการกลายพันธุ์
เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในหมู่เกษตรกรผู้ปลูกมะละกอว่า
การนำเมล็ดพันธุ์มะละกอแต่ละพันธุ์มาปลูกแบบขยายพันธุ์นั้นโอกาสของการกลายพันธ์ุจะมีสูงกว่า
80 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพต่ำและไม่ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ
หลายฝ่ายจึงได้คิดค้นวิธีการแก้ปัญหาจนในที่สุดก็พบว่า
วิธีการตอนกิ่งพันธุ์จากต้นแม่ที่มีคุณภาพจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
ด้วยสามารถลดการกลายพันธุ์ของมะละกอได้
ขณะเดียวกันก็สามารถได้รับผลผลิตที่เร็วขึ้นและเก็บเกี่ยวตลอดถึงการดูแลเป็นไปได้ง่าย
ด้วยต้นเตี้ยแถมลูกดกอีกต่างหาก
ผู้รู้และมีประสบการณ์ในการตอนกิ่งมะละกอแนะนำมาว่า
เกษตรกรที่ปลูกมะละกอและต้องการขยายพันธุ์มะละกอด้วยวิธีนี้
ขั้นต้นต้องคัดเลือกต้นพันธุ์ที่จะทำการตอนก่อน
โดยเลือกที่มีความสมบูรณ์ตั้งแต่ลักษณะของต้น ผลที่ออกมาต้องตรงตามที่ตลาดต้องการและมีการต้านทานโรคได้ดี
เมื่อได้ต้นพันธุ์แล้วให้นำไปปลูกเมื่อโตเต็มที่
ตัดต้นให้สูงพอประมาณ จุดที่ตัดก็จะแตกกิ่งออกมา 5 ถึง 6 กิ่ง ภายใน 2 เดือนครึ่ง
และยาวประมาณ 20 ถึง 25 เซนติเมตร
ให้เฉือนกิ่งพันธุ์
จากข้างล่างไปข้างบนเป็นแบบปากฉลาม จากนั้นใช้ลิ่มไม้เล็ก ๆ
ขัดไว้เพื่อไม่ให้เนื้อไม้มะละกอติดกัน นำดินร่วนและขุยมะพร้าวมาผสมกันในอัตราส่วน
3 ต่อ 1 บรรจุลงถุงพลาสติก ผ่าถุงพลาสติกตรงกลาง
รดน้ำให้ชุ่มแล้วนำไปวางทับรอยแผลที่เฉือนไว้ มัดถุงด้วยเชือกให้แน่น
และต้องไม่ลืม เฉือนท่อน้ำเลี้ยงบริเวณที่ห่างจากกิ่งตอนประมาณ 3 ถึง 5 นิ้ว
ซึ่งจะทำให้รากงอกได้เร็วขึ้น ประมาณ 30 ถึง 45 วันรากมะละกอก็จะงอกและเดินเต็มถุง
ก็สามารถนำไปปลูกในพื้นที่ที่เตรียมไว้ได้ตามที่ต้องการ
วิธีการนี้เป็นที่ยืนยันของเกษตรกรที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วว่า
ต้นพันธุ์จากกิ่งตอนนั้นจะเหมือนกับต้นแม่ทุกประการ
และเมื่อนำไปปลูกก็จะได้มะละกอต้นเตี้ย เมื่อเจอลมแรงโอกาสหักโค่นก็ลดลงด้วย
แถมให้ผลเร็ว ออกลูกเป็นช่อและมีลูกดก หากปลูกด้วยเมล็ดในพื้นที่ 10 ไร่
เมื่อเทียบกับการปลูกแบบตอนกิ่ง ที่ใช้พื้นที่เพียง 1 ไร่
เท่านั้นผลผลิตที่เกษตรกรจะได้รับจะเท่ากัน
สำหรับตลาดมะละกอของไทย
นอกจากจะจำหน่ายภายในประเทศแล้ว ก็มีการส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย โดยตลาดในเอเชีย
ที่สำคัญได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ศรีลังกา บรูไน
ตลาดนี้นับเป็นตลาดรับซื้อมะละกอแหล่งใหญ่ที่สุด
โดยเฉพาะฮ่องกงเพียงประเทศเดียวก็รับซื้อมะละกอจากไทยถึงร้อยละ 80
ของปริมาณมะละกอที่ส่งออก
ส่วนตลาดในแถบตะวันออกกลาง
มีประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นผู้รับซื้อรายใหญ่
นอกนั้นได้แก่สาธารณรัฐอาหรับอามิเรสต์ คูเวต บาห์เรน
ส่วนใหญ่จะซื้อในรูปของมะละกอดิบ เข้าใจกันว่าเพื่อให้คนงานไทยที่ไปทำงานในประเทศเหล่านี้บริโภค
สำหรับเกษตรกรที่สนใจในวิธีการตอนกิ่งมะละกอดังที่กล่าวมาข้างต้น
เข้าไปศึกษาดูงานได้ที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จ.เพชรบุรี ที่นั้นมีแปลงสาธิต ให้ได้เรียนรู้และศึกษา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด
ๆ ทั้งสิ้น.
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://m.dailynews.co.th/News.do?contentId=317068&p=1
0 ความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น